ทับทิมที่พบน้ำมันเชื่อมประสานรอยแตก

รูปที่ 1: แสดงน้ำมันต่าง ๆ ที่ใช้ในการปรับปรุงคุณภาพพลอย พบได้ทั่วไปในเมืองจันทบุรี
(ถ่ายภาพโดย M.S. Krzemnicki, SSEF)

พลอยที่มีรอยแตกหรือร้อยราวภายในส่วนมากมักนำมาปรับปรุงคุณภาพโดยการใส่สารเชื่อมประสาน เช่น การแช่หรือการจุ่มด้วยน้ำมัน (รูปที่ 1) เพื่อบดบังรอยแตก หรือรอยร้าวในเนื้อพลอยทำให้พลอยดูสวยขึ้นและมองเห็นรอยแตกหรือรอยร้าวภายได้ยากขึ้นด้วยตาเปล่า  แต่การปรับปรุงคุณภาพดังกล่าวกลับถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางเฉพาะในพลอยมรกตเท่านั้นทั้งที่การปรับปรุงคุณภาพโดยการใส่สารเชื่อมประสานนั้นเป็นการปรับปรุงคุณภาพพลอยที่ทำกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก Nassau 1994) และ สามราถพบได้ทั้งในพลอยเนื้ออ่อนและพลอยเนื้อแข็ง เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปในตลาดการค้า แต่อย่างไรก็ตามสำหรับการซื้อขายนั้น ผู้ค้าควรจะต้องมีความเข้าใจและทำการสื่อสารหรือเปิดเผยข้อมูลแก่ผู้บริโภคได้อย่างถูกต้อง รวมทั้งผู้บริโภคจำเป็นต้องศึกษาและเข้าใจธรรมชาติของพลอยเพื่อประโยชน์ในการซื้อขายที่ถูกต้อง 

         ไม่นานมานี้ห้องปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณีของ SSEF พบว่าพลอยชนิดอื่น ๆ นอกเหนื่อจากมรกต เช่น ทับทิม ไพลิน สปิเนล ทัวร์มาลีน การ์เนต หรือแม้แต่พลอยหายากมาก เช่น Pezzottaite พบว่ามีน้ำมันหรือสารเชื่อมประสานรอยแตกร้าว แต่อย่างไรก็ตามในปีที่ผ่านมาไม่มีข้อมูลการเพิ่มขึ้นของการปรับปรุงคุณภาพโดยการใส่สารเชื่อมประสานดังกล่าวอย่างชัดเจนแต่อย่างใด

รูปที่ 2: แสดงทับทิมเจียระไนแบบลูกปัดที่พบน้ำมันอยู่ในรอยแตกร้าวภายใน
(ถ่ายภาพโดย H.A. Hänni, SSEF)

น้ำมันหรือแว๊กซ์มักพบในรอยแตกหรือรอยร้าวในทับทิมสดที่ยังไม่ผ่านการเผา โดยเฉพาะอย่างยิ่งทับทิมจากแหล่งพลอยประเทศพม่า (ดังตัวอย่างที่แสดงในรูปที่ 2) และนอกจากนี้ยังพบว่าในพลอยทับทิมชมพูอมม่วงและสีม่วงอมชมพู อาจพบน้ำมันสีส้มในรอยแตกหรือรอยร้าว ซึ่งจะมีผลทำให้ทับทิมมีสีแดงสดสวยยิ่งขึ้น (ดังตัวอย่างที่แสดงในรูปที่ 3)

รูปที่ 3: แสดงน้ำมันสีส้มเชื่อประสานรอยแตกร้าวในทับทิม
(ถ่ายภาพโดย M.S. Krzemnicki & V. Lanzafame, SSEF)

เทคนิคการตรวจหาสารเชื่อมประสานรอยแตกในทับทิมและพลอยชนิดอื่น ๆ นั้นก็ใช้วิธีการตรวจวิเคราะห์แบบเดียวกับมรกต คือ ตรวจวัดสเปกตรัมการดูกลืนรังสีอินฟราเรดด้วยเครื่องอินฟราเรดสเปกโตรสโคป (FTIR), ตรวจวิเคราะห์ชนิดของสารเชื่อมประสารด้วยเครื่องเลเซอร์รามาน (Raman microspectrometry), ตรวจสอบการเรืองแสงภายใต้รังสีอัลตราไวโอเลต  และการสังเกตลักษณะภายในพลอยผ่านกล้องจุลทรรศน์อัญมณี (รูปที่ 4) ควบคู่กันไป  แต่ในบางกรณีก็อาจตรวจสอบได้โดยการใช้ความร้อนช่วย เช่น ใช้เข็มร้อนจี้สัมผัสโดยตรงบริเวณใกล้กับรอยแตกที่มีน้ำมันเชื่อมประสาน ความร้อนจำทำให้น้ำมันที่อุดอยู่ในรอยแตกค่อย ๆ ไหลซึมออกมาได้ (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก Hughes 2016)  หรือบางทีไฟจากกล้องจุลทรรศน์อัญมณีเมื่อส่องไปที่พลอยเป็นเวลานานพอสมควร ความร้อนจากไฟก็จะทำให้น้ำมันที่อุดอยู่ในรอยแตกค่อยๆ ไหลซึมออกมาได้เช่นกัน

รูปที่ 4: แสดงลักษณะมลทินที่มีโครงสร้างแบบ dendritic เกิดจากการที่มีฟองอากาศแทรกเข้าไปในรอยแตก

พบว่าการปรับปรุงคุณภาพพลอยโดยการใส่สารเชื่อมประสานรอยแตก เช่น การใส่น้ำมันเข้าไปอุดตามรอยแตกร้าวในพลอยเพื่อบดบังรอยแตก และทำให้พลอยสวยขึ้น มีการทำมานานนับพันปีจึงพบได้ในเครื่องประดับโบราณ ดังนั้นการพบน้ำมันหรือแว๊กซ์ที่เป็นสารเชื่อมประสานในรอยแตกหรือรอยร้าวในพลอยถือเป็นวิธีการปรับปรุงคุณภาพแบบดั้งเดิมที่มีมายาวนานและเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปในตลาดการค้าพลอย แต่อย่างไรก็ตามยังมีความจำเป็นต้องมีการระบุให้ชัดเจนและต้องมีการเปิดเผยข้อมูลทั้งหมด ด้วยเหตุนี้ห้องปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณีของ SSEF จึงต้องระบุชนิด และปริมาณของสารเชื่อมประสานรอยแตกหรือรอยร้าวในพลอยทุกชนิดถ้ามีการตรวจพบ  โดยใช้ถ้อยคำและคำจำกัดความคล้ายคลึงกับที่ใช้ในมรกต